ผลงานที่ผ่านมา

Poon1

ประติมากรรมปูนปั้นนูนต่ำประดับศาสนสถาน สมัยทวาราวดี พบที่เมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี

งานปูนปั้นนั้น  มีความหมายหมายถึง  ลวดลายหรือภาพที่เกิดจากการปั้นปูนเพื่อให้เป็นลวดลาย  รูปภาพ  และรูปทรง  เพื่อใช้ในการประดับตกแต่ง  ตลอดจนทำเป็นส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรม  ถือเป็นงานทางศิลปกรรมของช่างไทยที่สำคัญอย่างหนึ่ง  ที่ปรากฏมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ  ปรากฏหลักฐานว่ามีมาแล้วตั้งแต่สมัยทวาราวดี  ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๖  โดยได้พบงานปูนปั้นประดับศาสนสถานต่างๆ  ซึ่งมีทั้งที่เป็นลวดลายประติมากรรมรูปพระพุทธรูป  เทวดา  และบุคคลในบริเวณเมืองโบราณสำคัญๆ ของภาคกลาง เช่น เมืองนครปฐม  เมืองลพบุรี  เมืองคูบัว ที่ตำบลคูบัว  จังหวัดราชบุรี  เมืองอู่ทอง  อำเภออู่ทอง  จังหวัดสุพรรณบุรี  และเมืองมโหสถ  จังหวัดปราจีนบุรี

Poon2

พระพุทธรูปปูนปั้น ในซุ้มจระนำ รัตนเจดีย์  วัดจามเทวี สมัยหริภุญชัย จังหวัดลำพูน

         นอกจากนี้ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ได้ปรากฏที่เมืองฟ้าแดดสูงยาง  จังหวัดกาฬสินธุ์  และภาคเหนือที่เมืองหริภุญชัยหรือลำพูน  เป็นต้น  สันนิษฐานว่าศิลปะการปั้นปูนดังกล่าวนี้คงได้รับการถ่ายทอดมาจากช่างชาวอินเดีย  ที่เดินทางเข้ามาสู่ดินแดนแถบนี้พร้อมๆ กับการเผยแผ่เข้ามาของศาสนาพุทธและฮินดู

Poon3

พระพุทธรูปปูนปั้น  สมัยทวาราวดี

         ศิลปะปูนปั้นได้รับความนิยมใช้ในงานประดับตกแต่งศาสนสถาน ในช่วงเวลาต่อมาเป็นอย่างมาก  ทั้งนี้  ศาสนสถานส่วนใหญ่จะก่อสร้างด้วยอิฐและศิลาแลง  ซึ่งมักจะนิยมใช้การปั้นปูนให้เป็นรายละเอียดประดับตกแต่ง  เนื่องจากเป็นเทคนิคที่ช่างมีความคุ้นเคย  ใช้วัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่น  มีความงดงาม  และความคงทน ดังนั้น จึงปรากฏศิลปะปูนปั้นในงานประดับโบราณสถานในสมัยต่างๆ ตลอดมา
ผลงานที่นับได้ว่ามีชื่อเสียง และเป็นงานศิลปกรรมปูนปั้นชั้นเยี่ยมที่ปรากฏเหลืออยู่ในทุกวันนี้  ได้แก่ ลวดลายปูนปั้นประดับปรางค์สามยอด  เมืองลพบุรี  สมัยลพบุรีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ – ๑๗  งานปูนปั้นที่ปรากฏในช่วงเวลานี้จะเป็นงานที่สืบทอดมาจากสมัยทวาราวดี  ลักษณะจะเป็นงานปูนปั้นนูนสูง  ที่มีความลึกของลวดลายค่อนข้างมาก  ปูนที่ใช้มีคุณภาพสูง  มีความคงทน

Poon4
ปูนปั้นประดับฐานเจดีย์วัดพระพายหลวง  ศิลปะสุโขทัย

         ต่อมาในสมัยอโยธยาหรืออู่ทอง  อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ – ๒๐ งานปูนปั้นสำคัญๆ ที่ปรากฏจะประดับอยู่ที่ปรางค์วัดสองพี่น้อง  เมืองสรรคบุรี  และวัดไลยก์  อำเภอท่าวุ้ง  จังหวัดลพบุรี  และในสมัยสุโขทัย  ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๐  ปรากฏลวดลายปูนปั้นที่มีฝีมืองดงามหลายแห่ง อาทิ ลวดลายปูนปั้นประดับที่มณฑปวัดตระพังทองหลาง  และวัดมหาธาตุ  เมืองสุโขทัย  และลวดลายปูนปั้นตกแต่งผนังและเสาวิหารวัดนางพญา  เมืองศรีสัชนาลัย

Poon5
ลวดลายปูนปั้นที่วัดไลยก์  จังหวัดลพบุรี

         ในสมัยอยุธยาซึ่งมีอายุอยู่ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ – ๒๓  ได้มีการใช้งานปูนปั้นประดับตกแต่งสถาปัตยกรรมเป็นอย่างมาก  และยังปรากฏเหลือหลักฐานให้เห็นอยู่ค่อนข้างมาก  ซึ่งลวดลายปูนปั้นที่มีความงดงามและมีชื่อเสียงจะได้แก่  ลวดลายปูนปั้นประดับปรางค์วัดจุฬามณี  เมืองพิษณุโลก  สมัยอยุธยาตอนต้น  ปูนปั้นที่วัดโรงช้าง  ราชบุรี  สมัยอยุธยาตอนกลาง  และปูนปั้นพระอุโบสถวัดภูเขาทอง  พระนครศรีอยุธยา  ปูนปั้นที่วัดมหาธาตุกับวัดเขาบันไดอิฐ  เมืองเพชรบุรี  สมัยอยุธยาตอนปลาย เป็นต้น

Poon7

ลวดลายปูนปั้นประดับซุ้มประตูโขง วัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง สมัยล้านนายุคทอง

Poon10

ลวดลายปูนปั้นประดับซุ้มประตูโขง วัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง สมัยล้านนายุคทอง

         นอกจากนี้ยังมีปูนปั้นปรากฏอยู่ในศิลปะอีกสกุลช่างหนึ่ง  ซึ่งมีอายุร่วมสมัยกับอยุธยาคือ  ศิลปะล้านนา  งานปูนปั้นในศิลปะล้านนาที่งดงามและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักดี คือ งานปูนปั้นรูปเทวดาประดับวิหารวัดเจ็ดยอด  วัดมหาโพธารามหรือวัดเจ็ดยอด  และปูนปั้นประดับหอไตรวัดพระสิงห์  เมืองเชียงใหม่  รวมทั้งงานปูนปั้นประดับโบราณสถานล้านนาอีกหลายแห่ง  อาทิ  ซุ้มประตูโขงวัดพระธาตุลำปางหลวง  จังหวัดลำปาง  เจดีย์วัดเกาะกลาง  จังหวัดลำพูน  ตลอดจนงานปูนปั้นประดับหน้าบันวิหารล้านนาในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นต้น

Poon8
ลวดลายปูนปั้นภาพเทวดาชุมนุมประดับที่หอไตร วัดพระสิงห์ เมืองเชียงใหม่ สมัยล้านนายุคฟื้นฟู

Poon9สิงห์ปูนปั้นสมัยอยุธยา  ที่วัดธรรมิกราช  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วัสดุที่เป็นส่วนผสมของปูนปั้น

ปูนที่ใช้ในการปั้นเป็นลวดลายประดับสถาปัตยกรรมดังที่กล่าวมาแล้วนั้น  จะเป็นวัสดุที่ได้มาจากหินปูนหรือเปลือกหอยทะเลเผาไฟ  ซึ่งเผาไหม้แล้วจะเป็นผงสีขาว  จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าปูนขาว  ปูนที่จะนำมาปั้นเป็นลวดลายประดับนั้น  จะต้องได้รับการเตรียมการให้มีคุณภาพเหนียวและจับตัวแข็งแกร่ง  เมื่อภายหลังปูนปั้นนั้นแห้งสนิทแล้ว  ด้วยการผสมน้ำยากับวัสดุบางชนิดเพื่อเพิ่มคุณภาพ  ซึ่งการเตรียมปูนดังกล่าวมักจะใช้กรรมวิธีการตำหรือการโขลก  เพื่อให้วัตถุที่ผสมลงไปหรือส่วนประกอบต่างๆ  เหล่านั้นปนกันและเข้ากันเป็นอย่างดี  ดังนั้น  ปูนที่จะใช้งานปั้นจึงมักจะเรียกว่า  ปูนตำ  หรือบางท้องถิ่นก็เรียกว่า  ปูนเพชร  ครั้นเมื่อนำไปปั้นก็เรียกว่า ปั้นปูนตำ ปั้นปูนโขลก และปั้นปูนทิ่ม  หรือบางแห่งเรียกว่า  ปูนสด  เพราะเมื่อนำไปปั้น ต้องปั้นกันสดๆ จะให้ปูนแห้งไม่ได้  ต้องให้สดเสมอ

ปูนปั้นหรือปูนตำที่จะใช้ในการปั้น  ไม่ปรากฏว่าจะปรากฏอยู่ในภาคใดๆ ในประเทศไทย  จะมีส่วนผสมสำคัญอยู่ ๔ อย่าง คือ

๑.    ปูนขาว (Lime) จะเป็นวัสดุหลัก  มีหน้าที่ทำให้ก้อนปูนมีความแข็งแกร่ง  ปูนขาวที่จะนำมาใช้ต้องบริสุทธิ์  ไม่ปนเปื้อนหรือคุณภาพต่ำ

๒.    ทราย (Sand) เป็นวัสดุที่มีหน้าที่ทำให้แน่นแข็งและทรงตัว  ทรายที่จะนำมาใช้ควรเป็นทรายน้ำจืด สะอาด ไม่ปนเปื้อน และมีความละเอียด

๓.     เส้นใย (Fiber) เป็นวัสดุที่จำเป็นอย่างหนึ่งในการนำมาเป็นส่วนผสมของปูนที่จะนำมาใช้ในงานปั้น  เส้นใยนั้นจะทำหน้าที่เหนี่ยวรั้งประสานภายในก้อนปูน  เป็นสิ่งช่วยเสริมโครงสร้างในเนื้อปูน  ให้ยึดกันมั่นคงและช่วยให้ปูนไม่แตกร้าวเมื่อเกิดการหดหรือขยายตัว

๔.    กาว (Gum) เป็นวัสดุที่มีบทบาทสำคัญในปูนตำ  จะเป็นตัวยึดเนื้อปูนให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน  และเป็นตัวเร่งให้ปูนจับตัวแข้งเร็วยิ่งขึ้น  อาจทรงตัวอยู่ได้ในขณะที่ยังทำการปั้นไม่แล้วเสร็จ

Poon6
ลวดลายปูนประดับโบราณสถาน สมัยอยุธยาที่วัดส้ม  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ประเภทของปูนปั้น

เนื้อปูนที่ใช้ในงานปั้นที่ปรากฏมีอยู่ทั้งในอดีตและสืบมาจนถึงทุกวันนี้  อาจแบ่งออกได้เป็นสองประเภทไปตามความแตกต่างของวัสดุที่ใช้เป็นส่วนผสม

ประเภทแรก  เนื้อปูนที่จะใช้ในการปั้นนั้นใช้น้ำกาว เช่น กาวหนังสัตว์ น้ำอ้อย ฯลฯ เป็นส่วนผสม  จะเรียกว่า  ปูนน้ำกาว  โดยส่วนผสมของปูนน้ำกาวมักจะประกอบด้วย  ปูนขาว  ทรายแม่น้ำ  กาวหนังสัตว์  น้ำอ้อย  และกระดาษฟาง  เป็นต้น

ประเภทที่สอง  เนื้อปูนที่มีส่วนผสมด้วยน้ำมัน เช่น  น้ำมันทั่งอิ้ว  น้ำมันยาง ฯลฯ นั้น  จะเรียกว่า  ปูนน้ำมัน  ซึ่งส่วนผสมมักจะประกอบด้วย  ปูนขาว  ชัน  น้ำมันทั่งอิ้ว  และกระดาษฟาง  เป็นต้น

Poon11
เทวดาปูนปั้น ประดับพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม  กรุงเทพมหานคร

         ศิลปะการปั้นปูนและงานศิลปกรรมปูนปั้น  ประดับศาสนสถานที่ปรากฏอยู่ในสังคมไทยนั้น  ถือ ได้ว่าเป็นมรดกช่างศิลป์ไทยที่มีคุณค่าและมีความงาม ตามแบบอย่างทางศิลปะไทยที่สมควรแก่การอนุรักษ์ รักษา และสืบสานความรู้ไว้สืบไป

– ข้อมูลอ้างอิง : โครงการสืบสานมรดกวัฒนธรรมไทย. มรดกช่างศิลป์ไทย. กรุงเทพ : องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๔๒. หน้า ๔๕ – ๙๓.

– ขอขอบคุณ แหล่งข้อมูลอ้างอิงในอินเทอร์เน็ต จาก http://www.oknation.net/blog/phaen/2007/08/22/entry-1

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *